บทความโดยนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงาน ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)

เชื่อว่าใครๆ ก็คงจะยินดีเมื่อรู้ว่าเราเปิดสถานีกลางบางซื่อแล้ว เพราะนี่คือหมุดหมายสำคัญว่าเราได้ยกขนส่งทางรางขึ้นมาสู่อีกระดับ สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางระบบรางของภูมิภาคที่รองรับรถไฟสารพัดความเร็วและเส้นทาง ทั้งจากในและนอกประเทศ อีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า เราจะสามารถเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากไทยไปลาวและจีนได้ที่สถานีนี้ ฟังดูน่าตื่นเต้นไม่น้อย ภูมิภาคของเรากำลังจะเป็นเหมือนยุโรปที่ทุกประเทศสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยรถไฟ

แน่นอนว่าพวกเรา T4A ก็ย่อมมีความยินดีที่จะเห็นการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศ แต่ท่ามกลางความยินดีนั้น เราก็ยังพบว่าสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (สอส.) ในสถานีกลางบางซื่อหลายอย่างต่ำกว่ามาตรฐานอย่างน่าแปลกใจ เมื่อผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นอย่างพวกเราได้ไปใช้งานด้วยตนเอง ก็ได้เจอกับ สอส. ที่ต้องบอกว่า “เฟล” อย่างไม่น่าให้อภัย ทั้งที่การออกแบบ สอส. ในยุคปัจจุบันเป็นมาตรฐานสากลที่ควรทำได้อย่างง่ายดายและเป็นมืออาชีพ ที่สำคัญ ประเทศไทยมีกฎหมายด้าน สอส. มามากกว่ายี่สิบปีแล้ว ความผิดพลาดง่ายๆ จึงไม่ควรเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะในโครงการขนส่งขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในทุกด้านเพื่อให้ได้ระบบขนส่งที่รวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้โดยสะดวก

ป้ายบอกทางไปห้องน้ำที่หลบอยู่หลังฉากกั้นก่อนถึงห้องน้ำ

ป้ายบอกทางไปห้องน้ำที่หลบอยู่หลังฉากกั้นก่อนถึงห้องน้ำ

เมื่อไปถึงสถานีกลางบางซื่อ เราจะพบปัญหาเรื่องป้ายเป็นอันดับแรก ในอาคารที่กว้างใหญ่เวิ้งว้างอย่างนั้น เราแทบจะหาป้ายที่เป็นประโยชน์ไม่เจอเลย โดยเฉพาะป้ายบอกทางไปห้องน้ำ หรือที่จริงอาจจะมีก็ได้ แต่ป้ายมีขนาดเล็กมากจนแทบอ่านไม่ได้ในระยะหนึ่งร้อยเมตร พวกเราตระเวนหากว่าสิบนาทีจึงเจอป้ายบอกทางไปห้องน้ำ เป็นป้ายไวนิลแนวตั้งที่เพิ่งเอามาตั้งไว้เพียงจุดเดียว แถมยังอยู่หลังฉากกั้นที่ไม่น่าจะมีใครมองทะลุผ่านไปเห็นได้ เมื่อสังเกตดีๆ จะพบว่ามีผู้โดยสารหลายคนเดินหาห้องน้ำด้วยเช่นกัน รปภ. ต้องทำหน้าที่แทนป้ายบอกทางและตอบคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ตลอดเวลา ที่น่าแปลกใจคือห้องน้ำมีอยู่เพียงจุดเดียว แปลว่าเราต้องเดินหรือเข็นกันหลายร้อยเมตรกว่าจะมาถึง ไม่อยากคิดสภาพเลยว่าหากประสบภาวะฉุกเฉินจะเป็นอย่างไร เมื่อเปิดใช้งานอย่างเต็มที่ในอีกไม่นานนี้ ผู้โดยสารที่มาใช้บริการคงจะออกันเต็มหน้าห้องน้ำอย่างแน่นอน

ปัญหาต่อมาคือเมื่อลงจากรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้ว เราจะไม่เจอป้ายบอกทางไปรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีบางซื่อแม้แต่ป้ายเดียว ต้องถามอย่างเดียวเท่านั้น ลำบากเจ้าหน้าที่และ รปภ. อีกตามเคย ทั้งที่ปัญหานี้แก้ได้ง่ายมากด้วยการใช้ป้ายบอกทาง เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่า

เมื่อสังเกตวิธีการออกแบบป้ายบอกทาง ก็พบว่าเราจะเห็นป้ายบอกสถานที่สำคัญก็ต่อเมื่อเราใกล้จะถึงสถานที่นั้นแล้ว เช่น ป้ายบอกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อจะอยู่ตรงหน้าทางลงไปสถานีเอ็มอาร์ทีบางซื่อ แต่เราจะไม่พบป้ายนี้ที่ชานชาลารถไฟฟ้าสายสีแดง ตรงหน้าทางเข้าสถานีกลาง หรือจุดอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเชื่อมต่อกับระบบอื่น

เมื่อพิจารณาว่าสถานีนี้จะต้องเชื่อมต่อกับรถไฟและรถไฟฟ้าหลายสายในอนาคต การออกแบบป้ายบอกทางที่เข้าใจง่ายและเห็นชัดเจนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อกับสายหรือระบบขนส่งต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณสถานีกลางบางซื่อ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความโกลาหลของผู้โดยสารจากทั่วทุกมุมโลกที่ไม่รู้จะไปทางไหน

ตะแกรงห่างปิดร่องน้ำหน้าทางเข้าสถานีกลางบางซื่อ

ตะแกรงห่างปิดร่องน้ำหน้าทางเข้าสถานีกลางบางซื่อ

เมื่อออกมาบริเวณด้านหน้าสถานีกลางบางซื่อ เราจะพบว่ามีร่องระบายน้ำที่ปิดด้วยตะแกรงห่างๆ เป็นแนวยาวอยู่ตรงประตูทางเข้า ใครใส่รองเท้าส้นสูง ใช้รถเข็นหรือมากับรถเข็นเด็กต้องระวังตัว เพราะมีความเสี่ยงว่าล้อหน้าหรือส้นรองเท้าจะติดร่องตะแกรงได้ มันน่าแปลกใจว่าผู้ออกแบบไปอยู่ที่ไหนมาถึงไม่รู้ว่าไม่ควรนำตะแกรงแบบนี้มาใช้ แสดงให้เห็นถึงการขาดความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของคนออกแบบ เพราะออกแบบตามความเคยชิน จึงทำให้เกิดสภาพเป็นท่อนขาดจากกัน เป็นแท่นต่างระดับกัน เป็นร่องหรือสันแยกพื้นที่กัน ซึ่งล้วนแต่สร้างอุปสรรคในการใช้งานทั้งสิ้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องไม่มีท่อน แท่น สัน ร่องในการออกแบบ แต่คนออกแบบต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับความลื่นไหลไร้รอยต่อบนทางสัญจรของคนทุกกลุ่ม

ทางลาดเหล็กแบบเคลื่อนที่ได้ซึ่งนำมาวางไว้ตรงหน้าทางเข้าสถานีกลางบางซื่อ

ทางลาดเหล็กแบบเคลื่อนที่ได้ซึ่งนำมาวางไว้ตรงหน้าทางเข้าสถานีกลางบางซื่อ

ที่น่าผิดหวังกว่านั้นก็คือบริเวณจอดแล้วจรด้านหน้าสถานี เราจะไม่เห็นทางลาดถาวรแม้แต่จุดเดียว ที่จริงก็มีอยู่จุดหนึ่งแต่อยู่ไกลหลายร้อยเมตรและลับตาคนมาก ไม่น่าจะมีใครสามารถหามันเจอได้ กลายเป็นว่า “มีก็เหมือนไม่มี” เพราะใช้ประโยชน์ไม่ได้ หลังโดนร้องเรียนเรื่องทางลาดมาสักพัก ตอนนี้เราจะเห็นแผ่นทางลาดเหล็กแบบเคลื่อนที่ได้วางไว้ตรงทางเข้าหลัก แต่ก็ไม่อยู่ในสภาพที่น่าใช้มากนัก แถมไม่ได้มาตรฐานและไร้รสนิยมอีกต่างหาก นี่คือศูนย์กลางระบบขนส่งทางรางของภูมิภาคอาเซียน เราจะต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองนานาประเทศซึ่งมีทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกายด้วยสภาพ สอส. อย่างนี้หรือ มันพอใช้งานได้ก็จริง แต่ก็แสดงให้เห็นวิธีคิดที่ล้าหลัง ทำไมคนออกแบบยังมีวิธีคิดที่แสนจะโบราณว่าทางลาดคนพิการจะต้องเอาไปไว้ไกลๆ หายากๆ อยู่อีก เมื่อเกิดปัญหาก็มาแก้ทีหลังแบบสุกเอาเผากิน ทำไมยังตกม้าตายกับเรื่องง่ายๆ เพียงแค่นี้

สิ่งที่อยากเสนอให้ทำ คือ ยกพื้นจุดจอดแล้วจรบางจุดให้เสมอกับพื้นทางเดิน กั้นด้วยเสาบอลลาร์ด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้โดยสารที่มาด้วยรถยนต์ไม่ต้องขึ้นลงทางต่างระดับ สามารถเดินหรือเข็นเข้าสถานีกลางบางซื่อได้เลย ส่วนจุดจอดรถเมล์อาจอยู่ถัดไปอีกหน่อยและคงความต่างระดับไว้ เพราะจำเป็นต้องใช้ทางลาดพาดบนทางเดินเท้า

สวนสาธารณะหน้าสถานีกลางบางซื่อที่ไม่มีทางเดินและสัญญาณไฟให้คนข้ามไปมาได้

สวนสาธารณะหน้าสถานีกลางบางซื่อที่ไม่มีทางเดินและสัญญาณไฟให้คนข้ามไปมาได้

อีกเรื่องที่น่าผิดหวัง คือ ไม่มีทางม้าลายหรือทางเดินที่จะข้ามถนนไปสวนสาธารณะหน้าสถานีแม้แต่จุดเดียว สถานีรถไฟทางไกลบางซื่อที่อยู่ใกล้ๆ ก็ไม่มีทางเดินดีๆ ให้ข้ามไปมาได้เช่นเดียวกัน ได้แต่เห็นอยู่ข้างหน้าแต่ไม่มีปัญญาจะข้ามไป กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง ในอนาคตบริเวณนี้จะพัฒนาให้เป็นเมือง มีห้าง โรงแรม ชุมชน สวน ตลาดและแหล่งธุรกิจตามแผน TOD แต่ถ้าการออกแบบยังคงเป็นท่อน แท่น สัน ร่อง ก็นึกไม่ออกว่าการเดินเท้าจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง (Walkability) จะสะดวกมากแค่ไหน เพราะคนออกแบบบ้านเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเดินเท้าเลย พื้นที่นอกอาคารมีไว้สำหรับรถยนต์และการตกแต่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้

คงต้องฝากการบ้านให้ รฟท. และกระทรวงคมนาคมคิดกันด้วยว่าจะทำให้สถานีกลางบางซื่อเป็นตัวอย่างที่ดีด้านการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลได้อย่างไร เพราะมันคือหน้าตาของประเทศเรา เมื่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ผู้คนจำนวนมากจะหลั่งไหลมาที่นี่จากทั่วทุกมุมโลก อย่าให้ใครมาตั้งคำถามเหล่านี้เหมือนพวกเราเลย เพราะมันจะเกิดประสบการณ์การเดินทางที่ไม่น่าประทับใจ ประเทศเรายังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักไปอีกนาน เพราะฉะนั้น ทำบ้านเมืองของเราให้พร้อมต้อนรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยและทุกสภาพร่างกายดีกว่า ที่สำคัญ ต้องทำออกมาในลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพและใส่ใจในรายละเอียดของการออกแบบ ต้องทำให้คนทั่วโลกเห็นภาพประเทศไทยว่าพร้อมจะเป็นโลกสมัยใหม่ที่มีความอินคลูซีฟ คำนึงถึงทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง แต่ถ้ายังเป็นสภาพนี้อยู่ ก็บอกได้คำเดียวว่า “เพลีย”