บทความโดย นายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงาน T4A

8 กันยายน 2564
ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้องคดีลิฟต์เกาะราวบันไดของสายสีม่วงโดยกลุ่มคนพิการ เนื่องจากเห็นว่า รฟม. ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการและผู้สูงอายุตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์หรือลิฟต์บันได (ลิฟต์เกาะราวบันได) จึงไม่อาจฟังได้ว่าจงใจละเลยที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งลิฟต์เกาะราวบันได้ก็ผ่านการรับรองมาตรฐานจากประเทศเยอรมันแล้ว

 

แน่นอนว่าเราเคารพการตัดสินของศาลปกครองกลาง แต่สิ่งที่คนพิการยังต้องเผชิญต่อไป คือ เรายังไม่สามารถใช้งานรถไฟฟ้าสถานีบางซ่อน แยกนนทบุรีหนึ่งและบางพลูได้อย่างสะดวก เนื่องจากการขอใช้ลิฟต์เกาะราวบันไดมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เมื่อไปถึงสถานี ผู้โดยสารจะไม่สามารถเปิดปิดลิฟต์เกาะราวบันไดเองได้ ต้องรอเจ้าหน้าที่ว่างลงมาช่วย ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนต้องรอหลายนาที แถมยังต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงอีกด้วย เพราะเคยมีกรณีคนพิการที่เกาหลีตกและเสียชีวิตมาแล้ว จนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศเกาหลีต้องออกหนังสือคัดค้านและขอให้เลิกใช้อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ลิฟต์เกาะราวบันไดยังไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่เดินทางพร้อมรถเข็นเด็ก คนท้อง หรือผู้ที่มีสัมภาระอีกด้วย คนที่ได้รับผลกระทบจึงไม่ใช่แค่คนพิการเท่านั้น

 

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ แนวคิดแบบเก่าในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในปัญหาที่เราต้องเจอบ่อยๆ ก็คือการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ในจำนวนที่จำกัด ไม่เพียงพอ มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน หรือไม่สามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง คนพิการจึงต้องวางแผนและเผื่อเวลาค่อนข้างมากในการเดินทางแต่ละครั้ง

ลองถามตัวเองดูว่าถ้าเราเป็นคนพิการและมีบ้านอยู่ตรงฝั่งลิฟต์เกาะราวบันได เราจะใช้มันเดินทางไปทำงานทุกวันหรือเปล่า เพราะกว่าจะขึ้นไปถึงชั้นจำหน่ายตั่ว ผู้โดยสารสถานีเดียวกันก็คงไปถึงที่ทำงานกันหมดแล้ว เจ้าหน้าที่เองก็ต้องมาเสียเวลากับเรามากเกินความจำเป็น หากเกิดเหตุขัดข้องกลางทางจะทำอย่างไร

เชื่อเถอะว่าสุดท้ายคนพิการคนนั้นก็จะเลือกเดินทางน้อยลงโดยอัตโนมัติ อาจจะหันไปใช้แท็กซี่ซึ่งมีราคาแพง หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์มาขับเอง หากไม่มีเงินซื้อรถ หรือไม่มีเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ช่วยให้คนพิการบางประเภทขับรถได้ ตัวเลือกในการเดินทางก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก ค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งมากขึ้น สวนทางกับรายได้

ถึงจุดหนึ่งเราก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่าเวลาของคนพิการมีค่าหรือเปล่า ทำไมเราต้องเสียเวลามากมายเพียงแค่จะขึ้นไปใช้บริการรถไฟฟ้า ในเมื่อกฎกระทรวงของไทยไม่ได้กำหนดให้ “ลิฟต์เกาะราวบันได” เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงไม่มีมาตรฐานกำหนดไว้ในกฎกระทรวงเหมือนเช่นลิฟต์ ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ฯลฯ เหตุใดจึงสามารถนำอุปกรณ์นี้มาติดตั้งในสถานีขนส่งได้ ที่สำคัญ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการอยู่ตรงไหน เอาอะไรมาให้ใช้ก็ต้องใช้อย่างนั้นหรือ สะดวกหรือไม่สะดวกก็ต้องทนใช้ไป จะเสียเวลาเท่าไหร่ก็ช่างมัน มีให้ใช้ก็ดีแล้ว อย่าเรื่องมากนักเลย

นี่ก็ปี 2021 แล้ว ปัญหาเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ถึงเวลาที่ผู้ออกแบบและผู้ให้บริการต้องใส่ใจในรายละเอียดการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างจริงจังเสียที เชื่อว่าผู้ออกแบบเองก็คงไม่ภูมิใจนักหรอกกับเจ้าอุปกรณ์นี้ เพราะไม่ว่าจะแก้ตัวอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันใช้ไม่ได้จริง ไม่สมเหตุสมผล สุดท้ายก็จะทิ้งคนพิการไว้ข้างหลังเหมือนที่ผ่านมา ท่านจะนอนหลับตาลงได้หรือกับสิ่งที่ท่านทำทิ้งไว้ให้เรา

การออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องทางสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม แต่มันคือการยกระดับคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันของทุกคน เพราะฉะนั้น อย่าให้มีอะไรแบบนี้อีกเลย เพราะเราจะไม่ยอมอยู่ในสภาพจำยอมอีกแล้ว

หมายเหตุ: ผู้ฟ้องคดีได้แก่ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และสมาชิกของภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้อีก 5 ท่าน กรุณาติดตามรายละเอียดคำพิพากษาเพิ่มเติมในครั้งต่อไป