ภาพ คณะลงพื้นที่ทางเท้าจังหวัดนนทบุรี กำลังหารือ

16 ต.ค. 2563 – T4A พร้อมด้วยตัวแทนจากมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ปากเกร็ด สมาคมคนพิการนนทบุรี แขวงทางหลวงนนทบุรี บริษัท ชิโนไทย รฟม. เทศบาลนครปากเกร็ดและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงพื้นที่สำรวจทางเดินเท้า จุดข้ามถนนและที่ตั้งสถานีกรมชลประทาน สายสีชมพู ตั้งแต่บริเวณซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 1 (ซอยสถานสงเคราะห์) ไปจนถึงกรมชลประทาน เพื่อสำรวจปัญหาและอุปสรรค เตรียมความพร้อมย่านปากเกร็ดให้เป็นเมืองยูดี เดินได้ เข็นดี มีรถไฟฟ้าที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่มก่อนเปิดใช้งานรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ปัญหาหลักที่พบในพื้นที่
1. ทางข้ามถนนบริเวณหน้าซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 1 ไม่มีความปลอดภัย แม้มีสัญญาณคนข้าม แต่ติดตั้งอยู่ในจุดที่รถมองเห็นไม่ชัดเจน รถจึงมักไม่หยุดให้และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
2. ทางเดินเท้ามีสิ่งกีดขวางโดยเฉพาะเสาไฟฟ้าและสะพานลอย บางจุดไม่สามารถสัญจรบนทางเท้าได้ ต้องลงมาใช้พื้นที่ถนน นอกจากนี้ยังใช้อิฐตัวหนอนซึ่งไม่สะดวกสำหรับการสัญจร อนึ่ง มีรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาใช้งานบนทางเท้าแทบตลอดเวลา อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานทางเท้า

แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น
1. ย้ายจุดข้ามถนนให้อยู่ห่างจากทางลงอุโมงค์ห้าแยกปากเกร็ด ติดสัญญาณไฟและปุ่มกดที่เห็นได้ชัดเจน ทำทางม้าลาย อาจใช้แนวคิด pedestrian island (เกาะกลางพักคอยสำหรับคนข้ามถนน) ของประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้
2. ทำลิฟต์ข้ามถนนซึ่งจะมีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม เนื่องจากบริเวณนั้นมีคนพิการอยู่อาศัยจำนวนมาก และมีวัดและโรงพยาบาลอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ในอนาคตอาจทำเป็นทางเดินลอยฟ้าไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าได้
3. ปรับปรุงทางเดินเท้า ปูพื้นใหม่ด้วยอิฐสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีคุณภาพและย้ายสิ่งกีดขวาง
4. เสนอให้ย้ายสะพานลอยด้านหน้าซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 1 ซึ่งกีดขวางทางสัญจรบนทางเท้า 100% หรือออกแบบใหม่ให้มีช่องทางสัญจรที่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานชุดเล็กจะมีการออกแบบและประชุมหารือแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป ทาง T4A จะรายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะๆ มาลุ้นกันว่าปากเกร็ด เมืองยูดี เดินได้ เข็นดี จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ภาพ คณะลงพื้นที่ทางเท้าจังหวัดนนทบุรี กำลังหารือ

ภาพ สภาพทางเท้าจังหวัดนนทบุรี

ภาพ คณะลงพื้นที่ทางเท้าจังหวัดนนทบุรี กำลังหารือ

ภาพวาด แนวคิด pedestrian island จากอังกฤษ